เรียนน้อยลงแต่ฉลาดขึ้น 💡 

      หลายคนที่อยากจะเรียนเก่งขึ้นมักเข้าใจว่าต้องอ่านหนังสือให้หนัก ๆ อ่านหนังสือให้เยอะ ๆ ยิ่งใช้ชั่วโมงการอ่านนานก็ยิ่งเพิ่มโอกาสสำเร็จในการเรียนมากขึ้น แต่ความจริงแล้ว ไม่ได้ขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการอ่านเท่านั้น มันขึ้นอยู่กับคุณภาพในการอ่านนั้นด้วย แล้วทำยังไงเราถึงจะเรียนให้น้อยลง แต่ฉลาดมากขึ้นได้ 📖

      ศาตรจารย์มาร์ตี้ ลอบเดล (Dr.Marty Lobdell) ซึ่งเป็นเคยเป็นนักจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัย Pierce ได้เสนอวิธีที่จะช่วยให้เราเรียนได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในเวลาที่น้อยลง 

      อันดับแรก จัดสภาพแวดล้อมในการเรียนให้เหมาะสม หลายคนคงรู้สึกเหมือนกันว่าการอ่านหนังสือที่โรงเรียน หรือที่ห้องสมุดนั้นมีประสิทธิภาพมากกว่าการอ่านในห้องนอน 🛌 หรือห้องนั่งเล่นของเรา เพราะสภาพแวดล้อมมีผลอย่างมากต่อพฤติกรรมของเรา ถ้าอยู่ในห้องนอนซึ่งปกติแล้วเรานอนอย่างเดียว ก็ยากที่เราจะอ่านหนังสือได้เต็มที่ เพราะเวลาเห็นเตียงก็คงอยากจะล้มตัวลงนอน

      📔 ดังนั้นเราต้องสร้างพื้นที่สำหรับการเรียนหนังสือโดยเฉพาะขึ้นมาเลย ให้พื้นที่บริเวณนั้นเป็นพื้นที่ที่เราใช้สำหรับอ่านหนังสือเท่านั้น ไม่ใช่ที่สำหรับนั่งเล่น หรือนอน

       เรามักจะชินกับการเรียนแบบ Passive หมายถึง การที่เราเป็นฝ่ายได้รับข้อมูลแต่เพียงฝ่ายเดียว มีคนป้อนข้อมูลให้ โดยที่เราไม่จำเป็นต้องทำอะไรเลย วิธีนี้เป็นวิธีที่สะดวกสำหรับเรา เพราะทุกคนต่างก็คุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เช่น การอ่านหนังสือซ้ำ ๆ บ่อย ๆ อ่านเฉพาะตรงที่ไฮไลท์ซ้ำ หรือแม้กระทั่งการฟังเสียงที่อัดซ้ำ 🎧

      ซึ่งมายด์เองก็ใช้วิธีการเรียนแบบ Passive มาตลอดเหมือนกันค่ะ แต่ Dr.Marty Lobdell บอกว่า ยิ่งเราสามารถเรียนได้ Active มากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งเรียนได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยวิธีการเรียนแบบ Active คือการถามคำถามตัวเองค่ะ 

     เริ่มตั้งแต่ก่อนเรียนเลยว่าสิ่งที่ฉันกำลังจะอ่านคืออะไร ซึ่งเนื้อหาที่เราเรียนกันมักจะแบ่งออกเป็น 2 อย่างคือ Concept หรือ Facts โดยที่ Concept นั้นอาศัยความเข้าใจ เช่น อวัยวะนี้ทำหน้าที่อะไร แต่ Facts คือสิ่งที่ต้องอาศัยความจำ เช่น อวัยวะนี้มีชื่อว่าอะไร

      ซึ่ง Concept นั้นสำคัญกว่า Fact เมื่อไหร่ก็ตามที่เราเข้าใจ Concept ได้ เราก็จะเข้าใจมันไปตลอด ไม่เหมือนความจำที่เราอาจจะลืมมันไปได้ มีโควทหนึ่งที่มายด์ชอบมากของคุณทันตแพทย์สมสุจิราที่บอกว่า “ความรู้ความจำเป็นเรื่องของสมอง แต่ความเข้าใจเป็นเรื่องของจิตวิญญาณ” 💭

      การพยายามทำความเข้าใจ Concept ได้ดีที่สุด คือการสรุปออกมาเป็นภาษาของตัวเอง หลายครั้งที่เวลาเราไฮไลท์อะไรแล้ว พอเรากลับมาอ่านอีกครั้ง เราอาจจะนึกออก หรือ Recognize ได้ว่าสิ่งที่เราไฮไลท์นั้นคืออะไร แต่เวลาทำข้อสอบ มันไม่ได้มีตัวช่วยที่มองปุ๊ปแล้วจะนึกออก แต่เราต้องจำได้ หรือ Remember มันได้จริง ๆ ต้องเขียนทุกอย่างลงไปโดยออกมาจากความจำจริง ๆ

      ซึ่งศาสตรจารย์บอกว่าการจะจำได้นั้นต้องเรียนแบบ Active ถึงจะมีประสิทธิภาพมากกว่า เช่น การควิซ ตั้งคำถามถามตอบเอง หรือสอนคนอื่นในเรื่องที่เราเพิ่งเรียนมา ซึ่งเป็นการเรียนแบบ Active ที่ดีมากวิธีหนึ่ง เพราะเราต้องบังคับให้สมองระลึกถึงข้อมูลทุกอย่าง และสรุปออกมาให้คนอื่นฟัง แถมยังเป็นการยืนยันด้วยว่าเราเข้าใจเนื้อหานั้นจริง ๆ

      แบ่งการเรียนออกเป็นช่วง ๆ หรือที่เรียกว่า Chunked Session เพราะว่าปกติแล้วเราจะสามารถโฟกัสมีสมาธิกับสิ่ง ๆ หนึ่งได้แค่ประมาณ 25-30 นาทีเท่านั้น  ไม่ว่าจะเป็นการเรียนเลกเชอร์ หรือการอ่านหนังสือ ถ้าผ่านหลังจากช่วง 25-30 นาทีไปแล้ว ประสิทธิภาพของเราก็จะลดลง

      ดังนั้นการนั่งอ่านหนังสือติดต่อกันทีเดียวนาน ๆ มากกว่า 30 นาทีขึ้นไป จะทำให้ไม่ได้ผลลัพธ์ที่ดีอย่างที่ควร เราควรแบ่งช่วงการเรียน หรืออ่านหนังสือออกเป็น 20-30 นาทีต่อครั้ง จากนั้นพักประมาณ 5 นาทีให้เราได้พักผ่อน หรือทำอะไรที่สนุก ๆ เป็นการผ่อนคลาย 🎳 คล้ายกับหลักการของ Pomodoro Technique เลยค่ะ นอกจากนี้ถ้าหากว่าเราอ่านอ่านหนังสือได้ครบตามเป้าแต่ละวันแล้ว อย่าลืมให้รางวัลตัวเองในตอนท้ายด้วย เช่น อาจจะนั่งเล่นเกม หรือดูซีรีส์ ทำอะไรก็ได้ที่อยากทำ เพื่อเป็นแรงกระตุ้นให้เราอ่านหนังสือให้จบก่อนที่จะได้ทำสิ่งที่ชอบ

      ทั้งหมดนี้ก็เป็นวิธีที่ช่วยให้เราสามารถเรียนได้น้อยลง แต่ฉลาดขึ้นค่ะ หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับเพื่อน ๆ ทุกคนนะคะ 

       ติดตามมายด์ได้ทั้งใน Youtube Channel หรือ Facebook Page นะคะ 🥰

error: Content is protected !!
Shares